“อัลตราซาวด์ บรา” ชุดชั้นพิเศษช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น
คงจะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้หญิง หากพวกเธอสามารถสวมใส่อุปกรณ์ที่สามารถตรวจอัลตราซาวด์เต้านมเพียงแค่วางอุปกรณ์นั้นบนบรา หรือเสื้อชั้นใน เพื่อตรวจหาเนื้องอก ไปพร้อม ๆ กับดื่มกาแฟอย่างสบายใจ
เมื่อไม่นานมานี้ ดร.จานัน ดาเตวิเริน (Canan Dagdeviren) นักวิทยาศาสตร์ชาวตุรกีและคณะทำงานมีเดียแลบ ของสถาบัน สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเป็นเกียรติแก่ป้าของเธอที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม
อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยเสี่ยงสูงสามารถติดตามอาการได้บ่อยครั้งมากขึ้น ในช่วงระหว่างการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม
องค์การอนามัยโลกพบว่า มะเร็งเต้านมถือเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง โดยในปี 2020 ตรวจพบผู้หญิงเป็นมะเร็งชนิดนี้ 2.3 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 685,000 ราย
นั่นจึงทำให้มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงมากที่สุดเป็นอันดับสอง
สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ระบุว่า หากว่าสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมแต่เนิ่น ๆ และอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่ อัตราการรอดในช่วงระยะเวลาชีวิต 5 ปี จะอยู่ที่ 99%
ดร.ดาเตวิเริน บอกว่า อุปกรณ์ที่เธอประดิษฐ์ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตราว 22% ในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในระยะหลัง ๆ ด้วย
อุปกรณ์นี้ทำงานอย่างไร
แนวคิดการประดิษฐ์ “อัลตราซาวด์ บรา” ผุดขึ้นในหัวของ ดร.ดาเตวิเริน ขณะที่เธอนั่งข้างเตียงป้าของเธอในโรงพยาบาล ซึ่งนอนรักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดลุกลามอย่างรวดเร็ว แม้ว่าป้าของเธอจะตรวจหามะเร็งเป็นประจำก็ตาม หลังจากนั้นหกเดือนป้าของเธอก็เสียชีวิตลง
ด้วยการใช้งานที่ง่ายดายโดยไม่จะเป็นต้องมีผู้ช่วย ผู้ใช้สามารถนำแผ่นอุปกรณ์ดังกล่าวแนบติดกับเสื้อชั้นใน หรือยกทรง อีกทั้งยังยืดหยุ่นและใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
ช่องรูปรังผึ้ง 6 ช่องของตัวอุปกรณ์แบบแผ่นแปะ มีไว้เพื่อติดตั้งกล้องฉายคลื่นอัลตราซาวด์ขนาดกระทัดรัด ซึ่งสามารถปรับตำแหน่งได้ ช่วยให้สามารถตรวจหาสิ่งผิดปกติภายในทรวงอกได้รอบด้าน ที่สำคัญเครื่องนี้ใช้งานได้โดยไม่รู้สึกเหนียวเนอะหนะจากเจลสำหรับอัลตราซาวด์อีกด้วย
ดร.ดาเตวิเริน บอกว่า เครื่องนี้สามารถตรวจพบซีสต์ขนาดเล็กได้ถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดของเนื้องอกระยะเริ่มต้น และค่อนข้างแม่นยำในการค้นหาความผิดปกติ
แมมโมแกรมคืออะไร
การตรวจแมมโมแกรม คือ กระบวนการตรวจหามะเร็งเต้านมทั่วไปโดยการเอ็กซ์เรย์ผ่านเต้านมเพื่อค้นหาจุดผิดปกติ
นักรังสีการแพทย์จะช่วยจัดตำแหน่งเต้านมข้างหนึ่งของผู้ตรวจให้อยู่ระหว่างแผ่นรองรับเต้านมและกดเนื้อเต้านมบนเครื่องเอ็กซ์เรย์
ผู้ตรวจอาจจะเจ็บเต้านมหรือรู้สึกสบายขณะทำแมมโมแกรม เนื่องจากแรงกดจากแผ่นกดเต้านม แต่อาการดังกล่าวจะหายไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการตรวจแมมโมแกรมในหลายประเทศยังมีราคาแพง หรือไม่ก็ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติไม่ครอบคลุมค่าตรวจ ทำให้มีผลต่อการเข้าถึงของผู้หญิงจำนวนมาก
ทำไมผู้หญิงบางคนถึงรู้สึกเจ็บจากการตรวจ
“เต้านมของแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งยังมีความหลากหลายของขนาดเนื้อเยื่อต่อมและไขมันของแต่ละคน” เฮเลน ยูเล นักรังสีการแพทย์ในสหราชอาณาจักร อธิบาย
หากจะเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อต่อมและเนื้อเยื่อไขมันว่าเป็นอย่างไรขณะที่รับการตรวจหน้าอก พบว่า ผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อต่อมจำนวนมากมักจะรู้สึกไม่สบายระหว่างการตรวจแมมโมแกรมมากกว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อไขมัน
ขณะที่ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อรักษาอาการของวัยหมดประจำเดือน ก็อาจทำให้เต้านมไวต่อความรู้สึกได้
ผู้ตรวจแมมโมแกรมสามารถลดอาการไม่สบายตัวหลังตรวจด้วยการเว้นช่วงการตรวจแมมโมแกรมแต่ละครั้งเป็นหนึ่งสัปดาห์ หรือ หลีกเลี่ยงการตรวจในระหว่างที่มีประจำเดือน หรือไม่ก็รับประทานยาพาราเซตามอลก่อนการเข้าตรวจ
อัลตราซาวด์ บรา เหมาะกับใครบ้าง
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเนื้องอกในเต้านมพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นมะเร็งแบบก่อนกำหนดราว 20-30% ในระหว่างที่ผู้ป่วยมีการตรวจแมมโมแกรมเป็นปกติ
คณะทำงาน MIT บอกว่า เนื้องอกดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากกว่า ส่วนที่ตรวจพบในรอบการตรวจปกติ ดังนั้น อัลตราซาวด์ บรา จึงเหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เพราะสามารถช่วยตรวจหาเนื้องอกที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่รอตรวจแมมโมแกรมครั้งหน้า หรือช่วยให้พวกเธอสามารถตรวจหาเนื้องอกด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายคนออกมาเตือนว่า แม้ว่าจะตรวจพบสิ่งผิดปกติแล้ว การตรวจแมมโมแกรมก็ยังสำคัญ
อัลตราซาวด์ บรา พัฒนามาได้อย่างไร
ทีม MIT ใช้เวลาพัฒนาอัลตราซาวด์ บราถึง 6 ปีครึ่ง ก่อนที่จะได้รับการจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบการใช้งานกับมนุษย์อยู่ในขณะนี้
เบื้องต้นราคาชุดละประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 36,000 บาท แต่ทีมพัฒนาบอกว่า ราคาจะลดลงอีกหากผลิตได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 4-5 ปี
ทีมพัฒนากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การตรวจแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน เร็วกว่าคุณจิบกาแฟเสียอีก และสามารถใช้ตรวจได้ทุกวัน
ความหวังสำหรับผู้หญิง
งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า การวินิจฉัยโรคล่าช้า บวกกับบริการด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ คือ สาเหตุให้อัตราการตายจากโรคมะเร็งเต้านมอยู่ในระดับสูงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า อัตราการรอดชีวิต 5 ปี จากโรคมะเร็งเต้านมในกลุ่มประเทศรายได้สูงมีเกินกว่า 90% ขณะที่ในอินเดียมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีเพียง 66% ส่วนแอฟริกาใต้อยู่ที่ 40%
การพัฒนาอัลตราซาวด์ บรา นี่น่าจะเป็นความหวังใหม่สำหรับกลุ่มผู้หญิง และนอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่สามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการตรวจหาสิ่งผิดปกติในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย อย่างปีที่แล้ว ดร.ดาเตวิเริน เคยลองใช้อุปกรณ์นี้สแกนลูกของเธอในครรภ์ด้วย
“ป้าของฉันยังสาวอยู่เลย อายุเพียง 49 ปีเอง ความตายคงเป็นเรื่องที่ยังห่างไกล จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเธอได้สวมอัลตราซาวด์ บรา อันนั้น” เธอ
รายงานเพิ่มเติมโดย อิสสริยา พรายทองแย้ม
บทความจาก บีบีซีไทย