จับตารัฐสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในวันนี้ (19 ก.ค.) ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา 249 คน โดยจะเริ่มขึ้นในเวลา 9.30 น.
ขณะเดียวกัน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากปมถือหุ้น บมจ. ไอทีวี
ล่าสุดเวลาประมาณ 11.45 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ผู้ร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจจะก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้
นอกจากนี้ยังมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ 19 ก.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
คดีนี้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกเอกสารข่าวแจ้งมติศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ (19 ก.ค.) ในระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาวาระเลือกบุคคลเป็นนายกฯ ในครั้งที่ 2
กิตติศักดิ์-วิโรจน์ ปะทะคารมเดือดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติคดีหุ้นไอทีวีพิธา
ในระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 วันนี้ (19 ก.ค.) มี ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ให้สมาชิกรัฐสภาลงมติอีกครั้งได้หรือไม่ ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวมติรับคำร้อง “คดีหุ้นไอทีวี” ของนายพิธาไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะวินิจฉัย และเริ่มมีการรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา จึงลุกขึ้นแจ้งต่อที่ประชุมในเวลา 12.05 น. ว่า ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ขอให้ท่านประธานพิจารณาสักนิดว่าขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับแล้ว สั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติการปฏิบัติหน้าที่
ในขณะที่นายกิตติศักดิ์ก้มหน้าอ่านข้อความจากสมาร์ทโฟน และยังพูดไม่จบ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วง ทำให้นายกิตติศักดิ์กล่าวสวนว่า “อย่าใจร้อนนะ”
นายวิโรจน์กล่าวว่า “ระเบียบราชการก็คงต้องรอหนังสือราชการมาอย่างเป็นทางการก่อน ไม่ต้องแสดงความกระเหี้ยนกระหือรือขนาดนั้น ทำไมอยากจะเข้าวัดที่พิจิตรมากเลยหรือ”
สุดท้ายนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่เพิ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม จึงต้องรีบไกล่เกลี่ย โดยบอกว่ขอให้หยุดเท่านี้อย่าทะเลาะกันเลย
วาทะส่งท้ายกลางสภาจาก “พิธา”
ในระหว่างที่ประธานรัฐสภาเปิดให้ ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายก่อนลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 151 ว่า การเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ อีกครั้ง สามารถทำได้หรือไม่
เวลา 14.43 น. แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลในวัย 42 ปี ได้ลุกขึ้นกลางสภา พร้อมกล่าวว่า ณ ปัจจุบันนี้มีเอกสารศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นจึงขออนุญาตพูดกับท่านประธานว่ารับทราบคำสั่ง และจะปฏิบัติตามคำสั่งจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น
“ขอใช้โอกาสนี้อำลาท่านประธาน จนกว่าเราจะพบกันใหม่ และขอฝากเพื่อน ๆ สมาชิกในการใช้รัฐสภาในการดูแลพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วครับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. และถ้าประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง แม้ผมไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ก็ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันอยู่ดูแลประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ” นายพิธากล่าวทิ้งท้าย
หลังแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค ก.ก. พูดจบ เขาได้ถอดบัตรประจำตัว ส.ส. ออกจากหน้าอกเสื้อสูท ชูขึ้น แล้ววางลงบนโต๊ะ โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ เดินเข้าไปจับมือกับเขา ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องจาก ส.ส. ซีก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และยังมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรค พท. นำภาพวาดคล้ายนายพิธาไปมอบให้ด้วย
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวขอบคุณนายพิธาที่ให้ความเคารพต่อกติกาสภา เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลมาถึงสภา ก็เคารพต่อกติกาของสภา
ขณะที่หน้าจอของโทรทัศน์รัฐสภาได้ปรับลดยอดสมาชิกรัฐสภาเหลือ 748 คนตั้งแต่เวลา 13.15 น. ภายหลังเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
สภาเตรียมตีความญัตติเสนอชื่อพิธารอบสอง
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายวานนี้ (18 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 19 ก.ค. จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยเร็ว เพราะประเทศชาติรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมือง
ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายได้หารือ เรื่องกระบวนการว่า จะเป็นญัตติของการประชุมรัฐสภาในข้อที่ 41 หรือไม่ โดยข้อบังคับดังกล่าว กำหนดว่าญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถนำมาเสนอใหม่ได้ ภายในสมัยประชุมเดียวกัน ยกเว้นสถานการณ์เปลี่ยนแปลงประธานรัฐสภาจึงจะสามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้
ทว่า ก็มีอีกความเห็นหนึ่งมองว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติทั่วไป เพราะข้อบังคับของการเลือกนายกรัฐมนตรีแยกออกมาในหมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 136 ถึง มาตรา 139 ก็ไม่ได้มีบังคับไว้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ จึงไม่ควรนำข้อบังคับข้อที่ 41 มาใช้ เพราะไม่ใช่ญัตติทั่วไป
ดังนั้น ประธานรัฐสภาจึงระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ต้องฟังเสียงสมาชิกรัฐสภาในวันนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการอภิปรายประมาณ 2 ชั่วโมง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเปิดเผยก่อนเข้าประชุมสภาวันนี้ว่า มติ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เห็นค้านกับผู้เสนอญัตตินี้ เพราะเห็นการเลือกนายกฯ ตามข้อบังคับดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 272 คือเห็นว่าญัตติยังไม่ตก และเสนอชื่อซ้ำได้
อย่างไรก็ตาม หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่าน ในทางปฏิบัติไม่ควรยื่นญัตติซ้อนไป เพราะชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุมของ 8 พรรคร่วม เพื่อหารือกันมาก่อน อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูเหตุการณ์วันนี้
เสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เข้าข่าย ญัตติตามรัฐธรรมนูญ หรือ ญัตติทั่วไป?
การประชุมรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นเวลา 9.30 น. โดยที่นายสุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว ในขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้ ส.ส. แสดงตนโดยมีผู้รับรองจำนวน 299 คน
การอภิปรายในช่วงแรกเป็นไปอย่างดุเดือด เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งระหว่างสมาชิกรัฐสภาในส่วนการตีความว่า การเสนอข้อพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ถือว่าเป็นญัตติหรือไม่ และการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำจะถือว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำและขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 หรือไม่
โดยนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติลุกขึ้นประท้วงคัดค้านว่าการเสนอชื่อนายพิธานั้นผิดข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 41 ซึ่งระบุว่า “ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”
เขาอธิบายว่า หากพิจารณาตามข้อบังคับดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าญัตติพิจารณาให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ตกไปแล้ว และเสนอว่าน่าจะเป็นการขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41
ทว่า ฝ่ายพรรค 8 ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่า การเสนอข้อพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่ญัตติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ ม. 5 ที่ระบุว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้…”
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมตีความข้อบังคับ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 แต่กรณีนี้ที่ประชุมยังไม่รับรอง
4 ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
- ส.ส. เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป โดยในวันนี้พรรคเพื่อไทย โดยนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2
- การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือก็คือ 50 คน โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน
- การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ
- ส.ส. 500 เสียง ส.ว. 249 เสียง รวมกัน 749 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 375 เสียงขึ้นไปจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เนื้อหาโดย BBC THAI